วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
รัฐธรรมนูญ มีความหมายตามพจนานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ว่า "เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้จัดระเบียบการปกครองประเทศ กำหนดรูปแบบของรัฐว่าเป็นรัฐเดี่ยว หรือรัฐรวม ระบอบการปกครองของรัฐ รวมทั้งสถาบันและองค์กรที่ใช้อำนาจในการปกครองรัฐ"

ความเป็นมาและความสำคัญ
ประเทศเกือบทั้งหมดในโลกย่อมต้องมีรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นเครื่องกำหนดรูปแบบในการปกครองประเทศ ไม่ว่าประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย สังคมนิยม หรือแบบคอมมิวนิสต์ ต่างมีรัฐธรรมนูญตามแบบฉบับของประเทศตนเองทั้งสิ้น สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร ประเทศไทยเคยมีทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จัดทำขึ้นในขณะที่บ้าน เมืองอยู่ในภาวะไม่สงบ หรือหลังจากมีการปฏิบัติรัฐประหารและรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยรวมทั้งสองประเภทแล้ว ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ ฉบับปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550

จุดกำเนิดรัฐธรรมนูญของไทย เกิดขึ้นจากบุคคลกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยฝ่ายทหารและพลเรือนที่เรียกว่า "คณะราษฎร" ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่พระมหากษัตริย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายความว่า อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นประมุขของรัฐ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" และต่อมา พระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ภายหลังทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของไทยฉบับแรก

ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ เราสามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้
     1. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทของกฏหมายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ประมวลกฏหมายต่าง ๆ รวมทั้งกฎหมายในส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ซึ่งหากกฎหมายใดก็ตามที่ได้ออกมาบังคับใช้ก่อนหรือหลังประกาศรัฐธรรมนูญ หากมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฏหมายเหล่านั้นย่อมไม่มีผลบังคับใช้
     2. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงโครงสร้างการปกครองประเทศ ได้แก่ การวางโครงสร้างรูปแบบการปกครองประเทศ การใช้อำนาจรัฐ ที่มาของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ การแบ่งแยก และการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
     3. รัฐธรรมนูญวางหลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และกำหนดหน้าที่ของพลเมืองของรัฐที่ต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ
     4. รัฐธรรมนูญช่วยทำให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน โดยกำหนดให้มีกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฏหมายอื่น ๆซึ่งตราออกมาบังคับใช้โดยฝ่ายนิติบัญญัติและนำไปบังคับใช้กับประชาชนโดยฝ่ายบริหาร โดยมีฝ่ายตุลาการเป็นผู้ตัดสินคดีต่าง ๆที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นอย่างเป็นระบบระเบียบ อีกทั้งยังมีหน่วยงานอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบหรือดำเนินการควบคุมให้การดำเนิน การต่าง ๆเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ รัฐธรรมนูญจัดให้ดูแลควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างยุติธรรม